เมนู

สภิยสูตรที่ 6


ว่าด้วยทรงตอบปัญหาสภิยปริพาชก


[364] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลัน-
ทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล เทวดาผู้เป็นสาโลหิต
เก่าของสภิยปริพาชก ได้แสดงปัญหาขึ้นว่า ดูก่อนสภิยะ สมณะหรือพราหมณ์
ผู้ใด ท่านถามปัญหาเหล่านี้แล้วย่อมพยากรณ์ได้ ท่านพึงประพฤติพรหมจรรย์
ในสำนักของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้นเถิด. ลำดับนั้นแล สภิยปริพาชกเรียน
ปัญหาในสำนักของเทวดานั้นแล เข้าไปหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่
เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีซึ่งเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมาก
ยกย่องว่าดี คือปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุทธกัจจายนะ
สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถ์นาฏบุตร แล้วจึงถามปัญหาเหล่านั้น สมณพราหมณ์
เหล่านั้นอันสภิยปริพาชกถามปัญหาแล้ว แก้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ ย่อมแสดง
ความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ ทั้งยังกลับถามสภิย-
ปริพาชกอีก.
ครั้งนั้นแล สภิยปริพาชกมีความดำริว่า ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชน
ส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณกัสสป ฯลฯ นิครนถ์นาฏบุตร ถูกเราถาม
ปัญหาแล้ว แก้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ ย่อมแสดงความโกรธ ความขัดเคือง

และความไม่พอใจให้ปรากฏ ทั้งยังกลับถามเราในปัญหาเหล่านี้อีก ถ้ากระไร
เราพึงละเพศกลับมาบริโภคกามอีกเถิด ครั้งนั้นแล สภิยปริพาชกมีความดำริ
ว่า พระสมณโคดมนี้แล เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มี
เกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปเฝ้า
พระสมณโคดม แล้วทูลถามปัญหาเหล่านี้เถิด.
ลำดับนั้นแล สภิยปริพาชกมีความดำริว่า ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
เป็นผู้เก่าแก่ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เป็นผู้เฒ่า รู้ราตรีนาน
บวชมานาน เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็น
เจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ ปูรณกัสสป ฯลฯ นิครนถ์นาฎบุตร
ท่านสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถูกเราถามปัญหาแล้วแก้ไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้
ย่อมแสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฎ ทั้งยังกลับ
ถามเราในปัญหาเหล่านี้อีก ส่วนพระสมณโคดม ถูกเราถามเแล้วจักพยากรณ์
ในปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะพระสมณโคดมยังเป็นหนุ่มโดยพระชาติ ทั้ง
ยังเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา.
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกมีความดำริว่า พระสมณโคดมเราไม่ควร
ดูหมิ่นดูแคลนว่า ยังเป็นหนุ่ม ถึงหากว่าพระสมณโคดมจะยังเป็นหนุ่ม แต่
ท่านก็เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดม
แล้วทูลถามปัญหาเหล่านี้เถิด ลำดับนั้น สภิยปริพาชกได้หลีกจาริกไปทางพระ-
นครราชคฤห์ เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายัง
พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้นแล้วปราศรัย
กับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า

[365] ข้าพระองค์ผู้มีความสงสัย
มีความเคลือบแคลง มาหวังจะทูลถามปัญหา
พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอจงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ตามลำดับ
ปัญหาให้สมควรแก่ธรรมเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อนสภิยะ ท่านมาแต่ไกล หวังจะ
ถามปัญหา เราอันท่านถามปัญหาแล้ว จะ
กระทำที่สุดแห่งปัญหาเหล่านั้น จะพยากรณ์
แก่ท่านตามลำดับปัญหา ให้สมควรแก่ธรรม
ดูก่อนสภิยะ ท่านปรารถนาปัญหาข้อใด
ข้อหนึ่งในใจ ก็เชิญถามเราเถิด เราจะกรt
ทำที่สุดเฉพาะปัญหานั้น ๆ แก่ท่าน.

[366] ลำดับนั้น สภิยปริพาชกดำริว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ ไม่
เคยมีมาเลยหนอ เราไม่ได้แม้เพียงการให้โอกาสในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเลย
พระสมณโคดมได้ทรงให้โอกาสนี้แก่เราแล้ว สภิยปริพาชกมีใจชื่นชม เบิกบาน
เฟื่องฟูเกิดปีติโสมนัส ได้กราบทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่า
เป็นภิกษุ กล่าวบุคคลว่าผู้สงบเสงี่ยมด้วย
อาการอย่างไร กล่าวบุคคลว่าผู้ฝึกตนแล้ว

อย่างไร และอย่างไรบัณฑิตจึงกล่าวบุคคล
ว่าผู้รู้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์อัน
ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์
แก่ข้าพระองค์เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนสภิยะ
ผู้ใดถึงความดับกิเลสด้วยมรรคที่ตน
อบรมแล้ว ข้ามความสงสัยเสียได้ ละความ
ไม่เป็นและความเป็นได้เด็ดขาด อยู่จบ
พรหมจรรย์ มีภพใหม่สิ้นแล้ว ผู้นั้นบัณฑิต
กล่าวว่า เป็นภิกษุ.
ผู้ใดวางเฉยในอารมณ์มีรูปเป็นต้น
ทั้งหมด มีสติ ไม่เบียดเบียนสัตว์ในโลก
ทั้งปวง ข้ามโอฆะได้แล้ว เป็นผู้สงบ ไม่
ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น ผู้นั้นบัณฑิต
กล่าวว่า ผู้สงบเสงี่ยม.
ผู้ใดอบรมอินทรีย์แล้ว แทงตลอด
โลกนี้และโลกอื่น ทั้งภายในทั้งภายนอกใน
โลกทั้งปวง รอเวลาสิ้นชีวิตอยู่ อบรมตน
แล้ว ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้ฝึกตนแล้ว.
ผู้พิจารณาทั้งสองอย่าง คือ จุติและ
อุบัติ ตลอดกัปทั้งสิ้นแล้ว ปราศจากธุลี

ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ผู้หมดจด ถึงความ
สิ้นไปแห่งชาติ ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้รู้.

[367] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้
มีพระภาคเจ้าแล้ว มีใจชื่นชม เบิกบาน เฟื่องฟู เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถาม
ปัญหาข้อต่อไปกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่า
เป็นพราหมณ์ กล่าวบุคคลว่า เป็นสมณะ
ด้วยอาการอย่างไร กล่าวบุคคลผู้ล้างบาป
อย่างไร และอย่างไรบัณฑิตจึงกล่าวบุคคล
ว่า เป็นนาค (ผู้ประเสริฐ) ข้าแต่พระผู้มี
พระภาคเจ้า พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถาม
แล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า
ผู้ใดลอยบาปทั้งหมดแล้ว เป็นผู้
ปราศจากมลทิน มีจิตตั้งมั่นดี ดำรงตนมั่น
ก้าวล่วงสงสารได้แล้ว เป็นผู้สำเร็จกิจ (เป็น
ผู้บริบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น) ผู้นั้นอัน
ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่
บัณฑิตกล่าวว่า เป็นพราหมณ์.
ผู้ใดมีกิเลสสงบแล้ว ละบุญและบาป
ได้แล้ว ปราศจากกิเลสธุลี รู้โลกนี้และ

โลกหน้าแล้ว ล่วงชาติและมรณะได้ ผู้คง
ที่เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นสมณะ.
ผู้ใดล้างบาปได้หมดในโลกทั้งปวง
คือ อายตนะภายในและภายนอกแล้ว ย่อม
ไม่มาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ผู้สมควรผู้
นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ผู้ล้างบาป.
ผู้ใดไม่กระทำบาปอะไร ๆ ในโลก
สลัดออกซึ่งธรรมเป็นเครื่องประกอบและ
เครื่องผูกได้หมด ไม่ข้องอยู่ในธรรมเป็น
เครื่องข้องมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง หลุดพ้น
เด็ดขาด ผู้คงที่ เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าว
ว่า เป็นนาค.

[368] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไป
กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวใครว่าผู้ชนะ-
เขต กล่าวบุคคลว่า เป็นผู้ฉลาด ด้วยอาการ
อย่างไร อย่างไรจึงกล่าวบุคคลว่า เป็นบัณฑิต
และกล่าวบุคคลว่า เป็นมุนี ด้วยอาการ
อย่างไร ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ่า พระองค์
อันข้าพระองค์ทูลถามแล้วขอจงตรัสพยา-
กรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนสภิยะ

ผู้ใดพิจารณา (อายตนะหรือกรรม)
เขตทั้งสิ้น คือ เขตที่เป็นของทิพย์ เขตของ
มนุษย์และเขตของพรหมแล้ว เป็นผู้หลุดพ้น
จากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งเขตทั้งหมด
ผู้คงที่เห็นปานนั้น ผู้นั้นท่านผู้รู้ทั้งหลาย
กล่าวว่า เป็นผู้ชนะเขต.
ใดพิจารณากะเปาะฟอง (กรรม)
ทั้งสิ้น คือ กะเปาะฟองที่เป็นของทิพย์
กะเปาะฟองของมนุษย์ และกะเปาะฟอง
ของพรหมแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูก
อันเป็นรากเหง้าแห่งกะเปาะฟองทั้งหมด
ผู้คงที่ เห็นปานนั้น ผู้นั้นท่านผู้รู้ทั้งหลาย
กล่าวว่า เป็นผู้ฉลาด.
ผู้ใดพิจารณาอายตยะทั้งสอง คือ
อายตนะภายในและภายนอกแล้ว เป็นผู้มี
ปัญญาอันบริสุทธิ์ ก้าวล่วงธรรมดำและ
ธรรมขาวได้แล้ว ผู้คงที่เห็นปานนั้น ผู้นั้น
ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นบัณฑิต.
ผู้ใดรู้ธรรมของอสัตบุรุษและของ
สัตบุรุษในโลกทั้งปวง คือ ในภายในและ

ภายนอก แล้วดำรงอยู่ ผู้นั้นอันเทวดาและ
มนุษย์บูชา ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและข่าย
คือตัณหาและทิฏฐิแล้ว ท่านผู้รู้ทั้งหลาย
กล่าวว่า เป็นมุนี.

[369] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไปกะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไร ว่า
ผู้ถึงเวท กล่าวบุคคลว่า ผู้รู้ตาม ด้วยอาการ
อย่างไร กล่าวบุคคลว่า ผู้มีความเพียร ด้วย
อาการอย่างไร และบุคคลผู้อันบัณฑิตกล่าวว่า
เป็นผู้ชื่อว่า อาชาไนย ด้วยอาการอย่างไร
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์อันข้า
พระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสพยากรณ์แก่
ข้าพระองค์เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนสภิยะ
ใดพิจารณาเวททั้งสิ้น อันเป็น
ของมีอยู่แห่งสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
ปราศจากความกำหนัดในเวทนาทั้งปวง
ผู้นั้นล่วงเวททั้งหมดแล้ว บัณฑิตกล่าวว่า ผู้
ถึงเวท.

ผู้ใดใคร่ครวญธรรมอันเป็นเครื่องทำ
ให้เนิ่นช้า และนามรูปอันเป็นรากเหง้าแห่ง
โรค ทั้งภายในทั้งภายนอกแล้ว เป็นผู้หลุด
พ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งโรค
ทั้งปวง ผู้คงที่เห็นปานนั้น ผู้นั้นบัณฑิต
กล่าวว่า ผู้รู้ตาม.
ผู้ใดงดเว้นจากบาปทั้งหมด ล่วง
ความทุกข์ในนรกได้แล้ว ดำรงอยู่ ผู้นั้น
บัณฑิตกล่าวว่า ผู้มีความเพียร ผู้นั้นมีความ
แกล้วกล้า มีความเพียร ผู้คงที่เห็นปานนั้น
บัณฑิตกล่าวว่า เป็นนักปราชญ์.
ผู้ใดตัดเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้า
แห่งธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งภายในทั้งภาย
นอกได้แล้ว หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูกอัน
เป็นรากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง
ผู้คงที่ เห็นปานนั้น ผู้นั้นบัณฑิตกล่าวว่า
เป็นผู้ชื่อว่า อาชาไนย.

[370] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหาข้อต่อไปกะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไร ว่า
ผู้สมบูรณ์ด้วยสุตะ กล่าวบุคคลว่า เป็นอริยะ

ด้วยอาการอย่างไร กล่าวบุคคลว่า ผู้มีจรณะ
ด้วยอาการอย่างไร และบุคคลผู้อันบัณฑิต
กล่าวว่าเป็นผู้ชื่อว่าปริพาชก ด้วยอาการ
อย่างไร ข้าแต่พระผู้พระภาคเจ้า พระองค์
อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสพยา
กรณ์แก่ข้าพระองค์เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนสภิยะ
บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้ฟังแล้ว รู้ยิ่ง
ธรรมทั้งมวล ครอบงำธรรมที่มีโทษและไม่
มีโทษอะไร ๆ อันมีอยู่ในโลกเสียได้ ไม่มี
ความสงสัย หลุดพ้นแล้ว ไม่มีทุกข์ในธรรม
มีขันธ์และอายตนะเป็นต้นทั้งปวง ว่า ผู้
สมบูรณ์ด้วยสุตะ.
บุคคลนั้นรู้แล้ว ตัดอาลัย (และ)
อาสวะได้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงการนอนใน
ครรภ์ บรรเทาสัญญา 3 อย่าง และเปือกตม
คือ กามคุณแล้ว ย่อมไม่มาสู่กัป บัณฑิต
กล่าวว่า เป็นอริยะ.
ผู้ใดในศาสนานี้ เป็นผู้บรรลุธรรม
ที่ควรบรรลุเพราะจรณะ เป็นผู้ฉลาด รู้ธรรม

ได้ในกาลทุกเมื่อ ไม่ข้องอยู่ในธรรมมีขันธ์
เป็นต้นทั้งปวง มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีปฏิฆะ
นั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้มีจรณะ.
ผู้ใดขับไล่กรรมอันมีทุกข์เป็นผล
ซึ่งมีอยู่ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และเป็น
ปัจจุบันได้แล้ว มีปกติกำหนดด้วยปัญญา
เที่ยวไป กระทำมายากับทั้งมานะ ความโลภ
ความโกรธ และนามรูป ให้มีที่สุดได้แล้ว
ผู้นั้น บัณฑิตกล่าวว่า ปริพาชก ผู้บรรลุ
ธรรมที่ควรบรรลุ.

[371] ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีใจชื่นชม เพื่องฟู เบิกบาน เกิดปีติโสมนัส
ลุกจากอาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าช้างหนึ่งแล้วประณมอัญชลีไปทางที่
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ได้ชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาอันสมควร
ในที่เฉพาะพระพักตร์ว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระ-
ปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน พระองค์ทรงกำจัด
ทิฏฐิ 3 และ 60 ที่อาศัยคัมภีร์อันเป็นวาทะ
เป็นประธานของสมณะผู้ลัทธิอื่น ที่อาศัย
อักขระคือความหมายรู้กัน (ว่าหญิงว่าชาย)

และสัญญาอันวิปริต (ซึ่งเป็นที่ยึดถือ) ทรง
ก้าวล่วงความมืด คือ โอฆะได้แล้ว.
พระองค์เป็นผู้ถึงที่สุด ถึงฝั่งแห่ง
ทุกข์ เป็นพระอรหันต์ (ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ)
ทรงสำคัญพระองค์ว่า ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว มี
ความรุ่งเรือง มีความรู้ พระปัญญามาก
ทรงช่วยข้าพระองค์ ผู้กระทำที่สุดทุกข์ให้
ข้ามได้แล้ว.
เพราะพระองค์ได้ทรงทราบข้อที่ข้า
พระองค์สงสัยแล้ว ทรงช่วยให้ข้าพระองค์
ข้ามพ้นความสงสัย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นมุนี
ผู้ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุในทางแห่งมุนี
ไม่มีกิเลสดุจหลักตอ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์
พระอาทิตย์ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่
พระองค์.
พระองค์เป็นผู้สงบดีแล้ว พระองค์
พระจักษุ ทรงพยากรณ์ความสงสัยของ
ข้าพระองค์ที่ได้มีแล้วในกาลก่อนแก่ข้า
พระองค์ พระองค์เป็นมุนีผู้ตรัสรู้เองแน่แท้
พระองค์ไม่มีนิวรณ์ อนึ่ง อุปายาสทั้งหมด

พระองค์ทรงกำจัดเสียแล้ว ถอนขึ้นได้แล้ว
พระองค์เป็นผู้เยือกเย็น เป็นผู้ถึงการฝึกตน
มีพระปัญญาเครื่องจำทรง มีความบากบั่น
เป็นนิตย์ในสัจจะ.
เทวดาทั้งปวง ทั้งสองพวก (คือ
อากาสัฏฐเทวดา และภุมมัฏฐเทวดา) ที่
อาศัยอยู่ในนารทบรรพตย่อมชื่นชม ต่อ
พระองค์ผู้ประเสริฐยิ่ง ผู้มีความเพียรใหญ่
แสดงธรรมเทศนา.
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่
พระองค์ผู้เป็นบุรุษอันสูงสุด ข้าพระองค์ขอ
นอบน้อมแด่พระองค์ บุคคลผู้เปรียบเสมอ
พระองค์ไม่มีในโลก พร้อมทั้งเทวโลก.
พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ศาสดา เป็นมุนีผู้ครอบงำมาร พระองค์
ทรงตัดอนุสัย ข้ามโอฆะได้เองแล้ว ทรง
ช่วยให้หมู่สัตว์นี้ข้ามได้แล้ว.
พระองค์ทรงก้าวล่วงอุปธิ ทำลาย
อาสวะได้แล้ว พระองค์เป็นดังสีหะ ไม่มี

อุปาทาน ทรงละความกลัวและความขลาด
ได้แล้ว ไม่ทรงติดอยู่ในบุญและบาปทั้งสอง
อย่าง เปรียบเหมือนดอกบัวขาวที่งามไม่ติด
อยู่ในน้ำฉะนั้น.
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ขอ
เชิญพระองค์โปรดเหยียดพระบาทออกมา
เถิด สภิยะ ขอถวายบังคมพระบาทของ
พระศาสดา.

[372] ลำดับนั้นแล สภิยปริพาชก หมอบลงแทบพระบาทของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต
ของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบ
เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงซึ่งพระผู้มี
พระภาคเจ้า กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าเถิด.
พ. ดูก่อนสภิยะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน หวังบรรพชา
หวังอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้องอยู่ปริวาส 4 เดือน เมื่อล่วง 4 เดือน
ไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจ จึงยังผู้นั้นผู้อยู่ปริวาสแล้ว ให้บรรพชาอุปสมบท
เพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้.

ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน หวัง
บรรพชา หวังอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส 4 เดือน เมื่อล่วง
4 เดือน ภิกษุทั้งหลายพอใจ จึงยังผู้นั้นผู้อยู่ปริวาสแล้วให้บรรพชาอุปสมบท
เพื่อความเป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาส 4 ปี เมื่อล่วง 4 ปีแล้ว
ภิกษุทั้งหลายพอใจ ขอจงยังข้าพระองค์ผู้อยู่ปริวาสแล้วให้บรรพชาอุปสมบท
เพื่อความเป็นภิกษุเถิด.
สภิยปริพาชก ได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้ว ครั้นท่านพระสภิยะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่
ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
มิได้มีอีก ก็ท่านพระสภิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์
ทั้งหลายฉะนี้แล.
จบสภิยสูตรที่ 6

อรรถกถาสภิยสูตรที่ 6


สภิยสูตรมีคำเริ่มต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้.
พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร ?
การเกิดขึ้นนี้กล่าวไว้แล้วในนิทานของสูตรนั้น. อนึ่ง สูตรนี้แม้ในลำดับ
แห่งการพรรณนาความก็พึงทราบว่าเช่นกับสูตรก่อน มีนัยดังได้กล่าวไว้แล้ว
ในสูตรก่อนนั่นแล. แต่บทใดยังไม่ได้กล่าวไว้ เราจักเรียบเรียงบทที่กล่าวไว้
ไม่ชัดเจน พรรณนาบทนั้น.
บทว่า เวฬุวนํ ในบทว่า เวฬุวเน กลนฺทกนิวาเป เป็นชื่อ
ของสวนนั้น. ได้ยินว่า สวนนั้นได้ล้อมไว้ด้วยไม้ไผ่ ทั้งมีสีเขียวน่ารื่นรมย์
ประกอบด้วยซุ้มประตูและป้อมตามกำแพง 18 ศอก. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า
เวฬุวัน. ที่สวนนั้น ชนทั้งหลายได้ให้เหยื่อแก่กระแต ด้วยเหตุนั้น จึงเรียกว่า
กลันทกนิวาปะ. กระแตทั้งหลายท่านเรียกว่า กลันทกะ.
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งก่อนพระราชาองค์หนึ่งเสด็จมาประพาสพระอุทยาน
ณ ที่นั้น ทรงเมาด้วยฤทธิ์สุราบรรทมหลับในตอนกลางวัน. พวกบริวารของ
พระองค์รู้ว่าพระราชาบรรทมหลับ จึงเลี่ยงไปเก็บดอกไม้และผลไม้จากข้างโน้น
ข้างนี้. ลำดับนั้นงูเห่าได้กลิ่นสุราจึงเลื้อยออกจากโพรงไม้ต้นหนึ่ง เลื้อยไป
ทางพระราชา. รุกขเทวดาเห็นดังนั้นจึงคิดว่าเราจักให้ชีวิตพระราชา จึงแปลง
เป็นกระแตกระซิบที่พระกรรณ. พระราชาทรงตื่นบรรทม. งูเห่าเลื้อยกลับ
พระราชาทอดพระเนตรเห็นกระแตนั้น ทรงดำริว่ากระแตนี้ให้ชีวิตเรา จึงทรง
ให้จัดหาเหยื่อไว้ให้กระแตที่พระราชอุทยานนั้น และให้ประกาศพระราชอุทยาน